พบชาวอิ่วเมี่ยน อพยพมาตั้งถิ่นฐานระนองเกือบ 30 ปี

พบชาวอิ่วเมี่ยน อพยพมาตั้งถิ่นฐานระนองเกือบ 30 ปี


      เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2557 ทีมงาน อสมท ระนอง ได้ติดตามคณะของ ททท. สื่อมวลชนจากส่วนกลางและททท.สำนักงานชุมพร ไปเยี่ยมเยียนชนเผ่าอิ่วเมียน ซึ่งเป็นชาวเขาเผ่าหนึ่งที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานทำไร่กาแฟและสวนผลไม้ที่บ้านในกรัง ม.9 ต.จปร อ.กระบุรี จ.ระนอง และน่าจะเป็นชาวเมี่ยนกลุ่มแรกและกลุ่มเดียวที่อาศัยอยู่ในภาคใต้ โดยคณะของเราได้คุณก้อง วัลเล่ย์ เป็นไกด์นำเที่ยวในครั้งนี้



        เราเดินทางจากก้องวัลเล่ย์ช่วงเช้า ไปสมทบกับคณะของททท.ที่น้ำตกงามมีศรี ก่อนที่จะเดินทางเข้าไปหมู่บ้านของชาวอิ่วเมี่ยน ซึ่งการเดินทางเข้าไปนั้น แยกจากถนนเพชรเกษมสายหลักเข้าทางต.จปร ไปประมาณ 10 กว่ากิโลเมตร ซึ่งหมู่บ้านชาวอิ่วเมียนนั้น อยู่กันประมาณ 19 ครัวเรือน 70 กว่าคน ทั้งหมดทำไร่กาแฟและสวนผลไม้ ซึ่งปัจจุบันนี้ได้มีการหุ้นส่วนกันทางความคิดกับกลุ่มวิสาหกิจก้องกาแฟ ในการผลิตกาแฟคุณภาพเพื่อรองรับตลาดเราและตลาดโลก โดยเกษตรกรสามารถกำหนดราคาผลิตได้เองในบางส่วน



          การเดินทางครั้งนี้ทำให้เราได้รู้จักกับชาวอิ่วเมี่ยน และเป็นครั้งแรกที่ได้ทราบว่า ที่ระนองมีการอพยพของชาวอิ่วเมี่ยนเข้ามาตั้งรกรากเกือบ 30 ปีแล้ว และน่าจะเป็นกลุ่มแรกและกลุ่มเดียวที่อพยพมาอยู่ในภาคใต้ เพราะชาวเมี่ยนส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือแถบจังหวัดพะเยา ลำปาง กำแพงเพชร ปัจจุบันชาวเมี่ยนที่ระนอง มีบ้านเรือน การแต่งกาย ตามปกติเหมือนบ้านเรา อาจมีบ้านยกสูงแบบทางเหนืออยู่บ้าง แต่ยังคงประเพณีที่สำคัญตามแบบชนเผ่าเอาไว้ ส่วนการแต่งกายแบบชาวเมี่ยนที่เราเห็นกันนั้น จะแต่งในโอกาสสำคัญ เช่น งานตรุษจีน งานมงคล หรือเวลามีคณะเข้าไปเยี่ยมเยียน โดยเสื้อผ้านั้นชาวเมี่ยนจะปักเองกับมืออย่างประณีตสวยงาม


          นายเฉิงโจว แซ่ฟุ้ง หรือเซง ชาวเมี่ยนรุ่นแรกที่ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านในกรัง อ.กระบุรี จ.ระนอง เล่าให้ฟังว่า ชาวอิ่วเมี่ยน ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือ แต่เราอพยพมาเนื่องจากพื้นที่ทำกินที่จ.พะเยามีไม่เพียงพอ เนื่องจากประชากรเพิ่มขึ้น จึงต้องมีการอพยพแยกย้ายกันไป ส่วนญาติๆก็ยังอยู่ที่มรดกเดิมที่ในหลวงพระราชทานให้จำนวน 15 ไร่ที่จ.พะเยา โดยอพยพไปอยู่ที่ลำปางก่อนในรุ่นพ่อรุ่นแม่ จากนั้นก็อพยพอีกครั้งไปยัง อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร แต่ต่อมาในปี 2526 ทางการมีการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองลาน เราจึงต้องอพยพอีกครั้ง และครั้งนี้ก็ลงมาอยู่ที่จ.ระนองเมื่อปี 2529  เนื่องจากพี่เขยนายโซลิ่น แซ่จ๋าว ได้รู้จักกับเพื่อนชาวใต้ คือ นายประสาท ขุนจิตร หรือพ่อใหญ่ประสาท และนายเฉลิม ศรีร่องหอย ซึ่งได้เข้ามาทำสวนกาแฟอยู่ก่อนแล้ว และได้ชักชวนนายโซลิ่น พี่เขตให้ลงมาทำสวนด้วยกัน ต่อมาในปี 2532 พี่น้องที่ไม่มีที่ดินทำกินก็ได้อพยพตามมาอีกหลายครอบครัว จนถึงปัจจุบัน เรามีชาวเมี่ยนอาศัยอยู่ 19 ครัวเรือน ทั้งหมด 77 คน


        นายคมสันต์ แซ่เติ๋น หรือเก๊าเชง ชาวเมี่ยนอีกคนที่อพยพตามมาเมื่อซัก 5 ปีที่ผ่านมา บอกว่า “ชาวเมี่ยนยังคงรักษาประเพณีที่สำคัญเอาไว้ การเซ่นไหว้บรรพบุรษในวันตรุษจีน สารทจีน รวมถึงก่อนการเพาะปลูกเราก็มีตั้งศาลเจ้าก่อนการเพาะปลูกเหมือนชาวเมี่ยนที่อื่น เรียกว่า เจี๊ยะต้อง ซึ่งก็เหมือนกับการไหว้เจ้าที่ของคนไทย...”


       และในปีนี้ 2557 เองที่ชาวเมี่ยนที่ระนองเริ่มเป็นที่รู้จักกับภายนอกมากขึ้น จากการเข้ามาส่งเสริมการผลิตกาแฟคุณภาพโดยส่วนราชการ และกลุ่มวิสาหกิจก้องกาแฟ  นายคมสันต์ หรือเก๊วเชง เล่าให้ฟังด้วยว่า เราอยู่กันมานานแต่ไม่มีใครรู้ แต่นับตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมปี 2557 นี้เองที่เราเริ่มเปิดประตูให้คนเข้ามารู้จักมากขึ้น การที่เราไม่กล้าสื่อสารกับคนภายนอก เพราะมีอยู่ 4 ข้อ ที่คนข้างนอกมักมองชนเผ่า คือ 1. หน้าตาโง่ๆ 2.ดูสกปรก 3.ด้อยการพัฒนา 4. ค้ายาเสพติด และเราเป็นกลุ่มเดียวที่อยู่ที่นี่ การพูด ประเพณี การแต่งกาย ไม่เหมือนคนอื่น...


          เรื่องราวของชาวอิ่วเมี่ยนยังคงมีอีกมายมายหลากหลายแง่มุมที่น่าสนใจ ทั้งประเพณี วิถีชีวิต ความคิดความเชื่อ และหากในอนาคตที่นี่จะเป็นที่รู้จักและเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของระนอง ชาวเมี่ยนเองก็คงต้องปรับตัวและเรียนรู้โลกภายนอกมากขึ้นเช่นกัน ที่สำคัญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทุกคนจะช่วยกันอย่างไร ให้ทุกอย่างยังคงความเป็นธรรมชาติความสมดุล ความเคารพในประเพณี และนำไปสู่การจัดการการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน