พิธีเข้าบวชของอิ้วเมี่ยน(กว๋าตัง)

คำว่า"กว๋าตัง"ในภาษาเมี่ยนมีความหมายว่าแขวนตะเกียงซึ่งเป็นการทำบุญเพื่อให้เกิดความสว่างขึ้นและเมี่ยนเองก็จะถือว่าผู้ที่ผ่านพิธีนี้แล้วจะมีตะเกียง3ดวงพิธีนี้ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเต๋าเป็นพิธีที่ทำเฉพาะผู้ชายเท่านั้นถือเป็นการสร้างบุญบารมีให้กับตนเองทำบุญอุทิศให้บรรพบุรุษและเป็นผู้สืบสกุลไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าพิธีกรรมนี้มีประวัติความเป็นมาอย่างไรมีเพียงแต่คำบอกเล่าจากการสันนิษฐานของผู้อาวุโสว่าพิธีกว๋าตังนี้มีมานานมากแล้ว



คงจะเป็น"ฟ่ามชิงฮู่ง"เป็นผู้บัญญัติให้ชาวเมี่ยนทำพิธีนี้เมื่อประมาณ2361ปีมาแล้วเพราะฟ่ามชิงฮู่งเป็นผู้สร้างโลกวิญญาณและโลกของคนฟ่ามชิงฮู่งจึงบอกให้ทำพิธีกว่าตังเพื่อช่วยเหลือคนดีที่ตายไปให้ได้ขึ้นสวรรค์หรือไปอยู่กับบรรพบุรุษของตนเองจะได้ไม่ตกลงไปในนรกที่ยากลำบากพิธีนี้เป็นพิธีบวชพิธีแรกซึ่งจะทำให้กับผู้ชายเมี่ยนโดยไม่จำกัดอายุในประเพณีของเมี่ยนโดยเฉพาะผู้ชายถ้าจะเป็นคนที่สมบูรณ์จะต้องผ่านพิธีบวชก่อน 

พิธีกว๋าตัง หมายถึงพิธีแขวนตะเกียง 3 ดวง เป็นพิธีที่สำคัญมาก เพราะถือว่าเป็นการสืบทอดตระกูล และเป็นการทำบุญให้บรรพบุรุษด้วย ในการประกอบพิธีกว๋าตังนี้ จะต้องนำภาพเทพพระเจ้าทั้งหมดมาแขวน เพื่อเป็นสักขีพยานว่าบุคคลเหล่านี้ว่าได้ทำบุญแล้ว และจะได้ขึ้นสวรรค์เมื่อเสียชีวิตไป จุดสำคัญของพิธีนี้คือ การถ่ายทอดอำนาจบุญบารมีของอาจารย์ผู้ประกอบพิธีกรรม ซึ่งในขณะทำพิธีนี้จะมีฐานะเป็นอาจารย์ (ไซเตี๋ย) ของผู้เข้าร่วมพิธีอีกฐานะหนึ่ง และผู้ผ่านพิธีนี้จะต้องเรียกผู้ที่ถ่ายทอดบุญบารมีนี้ว่า อาจารย์ตลอดไป ผู้เป็นอาจารย์ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมเสมอไป แต่ต้องผ่านการทำพิธีกว๋าตัง หรือพิธีบวชขั้นสูงสุด"โต่ว ไซ" ก่อน
เมื่อผ่านพิธีนี้แล้ว จะทำให้เขาเป็นผู้ชายที่สมบูรณ์ เขาจะได้รับชื่อใหม่ ชื่อนี้จะปรากฏรวมอยู่รวมกับทำเนียบวิญาณของบรรพบุรุษของเขา ซึ่งเป็นการสืบต่อตระกุลมิให้หมดไป เมื่อเขาเสียชีวิตเขาสามารถไปอยู่กับบรรพบุรุษที่ (ย่าง เจียว ต่ง) และอาจจะหลงไปอยู่ในที่ต่ำซึ่งเป็นที่ที่ไม่ดีหรือนรกก็ได้
พอเวลาลูกหลานทำบุญส่งไปให้ก็จะไม่ได้รับ เพราะไม่มีชื่อ นอกจากนี้ผู้ผ่านพิธี (กว๋า ตัง)ยังจะได้รับตำแหน่งศักดินาชั้นต่ำสุดของโลกวิญญาณ จะได้รับบริวารทหารองครักษ์ 36 องค์ และทำให้ภรรยามีเพิ่มเป็น 24 องค์ ดังนั้น ผู้ชายเมี่ยนทุกคนต้องทำพิธี (กว๋า ตัง) จะใช้เวลาในการทำพิธี 3 วันเป็นพิธีถวายตัวแก่เทพเจ้าเต๋า เพื่อวิญาณจะไปอยู่ร่วมกับบรรพชนและมีเทพ (ฮู่ง อิน) มาดูแลปกปักรักษาเมื่อสิ้นชีวิตลง และจะทำให้เขาเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว

มีศักดิ์และสิทธิที่จะเข้าร่วมพิธีต่างๆของเผ่าได้ทุกพิธี ช่วงที่ทำพิธีนี้ผู้เข้าร่วมจะต้องกินเจและถือพรหมจรรย์ ตามประเพณีแล้วผู้ชายเมี่ยนทุกคนจะต้องเข้าพิธี (กว๋า ตัง) ซึ่งจะไม่จำกัดอายุ จะน้อยหรือมาก
ก็ได้ และจะมีชีวิตหรือไม่มีก็ได้ การผ่านพิธี (กว๋า ตัง) ยังสามารถทำให้ประกอบพิธีกรรมหลายอย่างได้ด้วยตนเอง รวมทั้งการทำกิจกรรมงานอื่น ๆ ก็จะได้รับการเชื่อถือ

สำหรับชายที่แต่งงานแล้วเวลาทำพิธีบวช ภรรยาจะเข้าร่วมพิธีด้วย โดยจะอยู่ด้านหลังของสามี และการทำพิธีสามารถทำได้พร้อม ๆ กันหลาย ๆ คนก็ได้ แต่คนที่ทำนั้นจะต้องเป็นญาติพี่น้องกัน หรือนับถือบรรพบุรุษเดียวกัน เมี่ยนเรียกว่า(จ่วง เมี้ยน) หลังจากผ่านพิธีนี้แล้ว ผู้ทำพิธีจะได้รับชื่อผู้ใหญ่ และชื่อที่ใช้เวลาทำพิธีด้วยเรียกว่า (ฝะ บั๋ว) 


การบวชแบ่งออก 3 ระดับ คือ

1. กว๋าฟามทอยตัง เป็นการบวชซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำที่สุด ใช้เวลาในการประกอบพิธี 3 วัน 3 คืนเท่านั้น
2. กว๋าเชียดฟิงตัง เป็นการบวชที่ถือว่าอยู่ในระดับกลาง มีพิธี 7 วัน 7 คืน
3. โต่วไซ หรือ กว๋าต้าล่อตัง ถือว่าเป็นการบวชที่ใหญ่ที่สุด ใช้เวลาในการประกอบพิธี 7 วัน 7 คืน

การบวชทั้ง 3 ระดับนี้ มีทั้งการบวชแบบเดี่ยวและแบบควบกัน
1. การบวช กว๋าฟามทอยตัง เพียงอย่างเดียว
2. การบวช กว๋าเชียดฟิงตัง หรือ กว๋าเชียดโต่ว ที่รวมกับการบวช กว๋าฟามทอยตัง
3. การบวช กว๋าต้าล่อตัง ที่รวมกับการบวชกว๋าฟามทอยตัง

ในการเข้าพิธีบวชนี้ในหมู่บ้านเครือญาติ จะมีการตรวจสอบหลักฐานของแต่ละคนจาก "นิ่นแซงเป้น" คือ บันทึกวันเดือนปีเกิดหรือสูติบัตร (เอ้โต้ว) คือ การปฏิบัติต่อกันมา และ "จาฟินตาน" คือ บันทึกรายชื่อของบรรพบุรุษที่แต่ละคนถือครองอยู่  

  •  การเตรียมงาน เครื่องแต่งกาย ประจำเผ่าของผู้หญิง ซึ่งจะต้องเป็นเครื่องที่ตัดเย็บขึ้นใหม่
  • ผ้า ดิบสีขาว(เจี๋ย ซิน เดีย) ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมประจำผู้เข้าพิธี 1 ผืน
  • เก้าอี้ (กว๋าตัง ตน) ใช้สำหรับผู้เข้าพิธีนั่งตอนทำพิธีกว๋าตัง ซึ่งจะใช้ไม้ตัดมาใหม่ ทำเป็นรูปอักษรพิมพ์ใหญ่ตัว1แล้วแต่งด้วยกระดาษสีต่าง ๆ ที่ตัดเป็นลวยลายอย่างสวยงาม

  • เสา ที่วางตะเกียง (เจียบ จ่าง เดี้ยว) ทำจากต้นกล้วย โดยตัดลำของต้นกล้วยสูงประมาณ 140 เซนติเมตร แล้วหาลำกล้วยอีกต้นมาตัดยาวประมาณ 15 เซนติเมตร 2 ท่อน ใช้ไม้เสียบให้ติดกับด้านข้างของต้นสูงทั้งสองข้างให้เป็นแขนออกมา มีลักษณะด้านบนที่วางตะเกียงต้องใช้มีดคว้านให้มีขนาดวางตะเกียงได้พอดี

  •  กระดาษ สำหรับประกอบพิธีกรรม จะมี 2 แบบ คือ เจ่ยก๋อง และ เจ่ยหมา เจ่ยก๋อง ทำจากกระดาษสา เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดประมาณ 4 คูณ 9 นิ้ว แล้วใช้เหล็กที่เป็นแม่พิมพ์รูปเงินตอกลงบนกระดาษจนเป็นรอย เรียงเป็นแถว 5-6 แถว เจ่ยหมา จะใช้แม่พิมพ์ไม้ขนาด 2 คูณ 8 นิ้ว เรียกว่า หมากเพย ทาด้วยหมึกดำ ซึ่งเผามาจากฟางข้าวแล้วผสมน้ำ แล้วกดลงบนกระดาษสาที่ตัดมา

  •  ห่อเกลือ สำหรับเชิญอาจารย์ผู้ประกอบพิธีกรรมและพ่อครู ทำโดยตัดใบตองขนาดพอเหมาะเช็ดให้สะอาดใส่เกลือประมาณ 2 ช้อน ห่อเป็นรูปสี่เหลี่ยม คาดด้วยกระดาษสีขาวแล้วมัดซ้ำด้วยด้ายสีดำ
  •  ถุงข้าว (ซิ เจียน) สำหรับบูชาครู โดยใช้ผ้าดิบสีขาวตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมใส่ข้าวประมาณ 400 กรัม และใส่เหรียญเงินแท้แล้วผูกด้วยเชือ
  •  เรือ และหุ่นวิญญาณร้าย (ซู่ง เมี้ยน) เรือทำมาจากใบไม้ทีมีลักษณะรียาว ทำมาจากใบข้าวหรือข้าวโพดก็ได้ นำมาสานเป็นรูปเรือส่วนหุ่นวิญญาณร้ายใช้ฟางข้าวมามัดเป็นรูปคน
  • ตะเกียง แต่เดิมจะใช้ถ้วยชามแบบใหญ่ ใส่ข้าวสานลงไปประมาณ 3/4 ของถ้วย ใส่ด้วยควั่นเป็นเกลียว ปักลงไปในข้าวสาร แล้วเทน้ำมันงาลงไป ในปัจจุบันใช้เทียนขาวปักลงในข้าวสารแทน

  • อาหาร ใช้สำหรับเซ่นไหว้ และสำหรับเลี้ยงแขก ได้แก่ หมู ไก่ ข้าวสวย เหล้า ชา ขนมเมี่ยน (ยั้วเจ๊ยะ) เป็นขนมที่ทำจากข้าวเหนียวผสมงาดำ ห่อด้วยใบตองแล้วนำไปนึ่ง

อุปกรณ์ (ซิบ เมี้ยน เมี่ยน) สำหรับอุปกรณ์ซิบเมี้ยนเมี่ยนส่วนใหญ่เป็นของที่มีอยู่แล้ว เพียงแต่รวบรวมเตรียมพร้อมใช้ได้เลย ดังนี้
1. ภาพสามดาว (ต้ม ต๋อง เมี้ยน) ถือเสมือนเป็นเสื้อของเทพ เวลาอัญเชิญมาในพิธีก็จะมาสถิตในภาพนี้เลย
2. จ๋าว มีลักษณะเป็นไม้ 2 อัน ประกอบกัน ใช้สำหรับเสี่ยงทาย เพื่อที่จะทราบว่าเทพ หรือ เมี้ยน ยอมรับหรือพอใจในเครื่องเซ่นไหว้หรือไม่

3. มีดหมอผี (กิ๋ม) มีลักษณะเป็นมีดสั้น ที่ปลายด้ามมีดจะมีเหรียญร้อยเป็นพวงติดอยู่ ใช้สำหรับขับไล่สิ่งชั่วร้าย และนำมาแต่สิ่งที่ดี
4.ไม้เท้าศักดิ์สิทธิ์ (ชิ่ง ก๋วย) ทำมาจากไม้ ลักษณะเรียวยาว ปลายแหลมมีโลหะติดอยู่
5. เขาควาย (จอง) ใช้สำหรับเป๋าเชิญเทพแห่งดวงอาทิตย์ (หยุ่น ต๋าย ฮู่ง) 
6. หนังสือทำพิธี ซึ่งต้องใช้หลายเล่ม เช่น คอยตาลโซ หนังสือที่บันทึกคำสวดสำหรับ เซ่นไหว้ และ จ่าฟินตาน หนังสือบันทึกชื่อบรรพบุรุษที่จะเชิญมาร่วมพิธี
7. ตราประทับ ทำจากไม้แกะสลักตัวอักษรจีน และกระดาษ, หมึกดำ, พู่กันจีน ใช้เขียนสารแจ้งเทพแห่งดวงอาทิตย์
8. กระถางธูป ทำมาจากกระบอกไม้ไผ่
9. หงะเก๊น เป็นไม้ไผ่ที่ผ่าเป็นแผ่นบางขนาด เป็นไม้ไผ่ที่ผ่าเป็นแผ่น
10. เสื่อและเชือกปอ
11. กระดิ่ง เป็นเครื่องตนตรีที่ใช้ประกอบ
12. เครื่องดนตรี ที่ใช้ในงานมีเพียง 3 ชนิดเท่านั้น คือ กลอง (โหญ) ฆ้อง (ล่อ) และฉาบ (ฉาว เจ้ย)

13. ชุด สำหรับทำพิธีของอาจารย์ประกอบพิธีกรรม ประกอบด้วย หมวก ซึ่งเป็นหมวกสีดำทรงกลมตั้งขึ้น ด้านบนเย็บติดกัน ประดับด้วยพรมไหมสีแดงด้านบนจะแคบกว่าด้านล่าง เสื้อ (ลุ่ย กว๋า) เป็นเสื้อไม่มีแขน ผ่าอก ไม่มีปกคอเสื้อ ตัวเสื้อยาวต่ำกว่าสะโพก ใช้สวมทับชั้นใน มีลวดลายสีสันฉูดฉาด (ตุ้ง จุ่น) มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู คลายกับกระโปรงสตรีที่ไม่เย็บติดกันยาวจากเอวถึข้อเท้า ใช้สวมทับกางเกง (ผา ฮุ้ง) เป็นผ้าสีแดง ใช้คาดเอวทับเสื้อ (ผา จุ่น) เป็นผ้าสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ด้านหน้าผ้าใช้ผ้าทอด้วยมือสีดำปักลาย และตรงปลายของส่วนที่มีพู่ไหมพรมสีแดงประดับพองาม (เส้นต้อต๋าย) ใช้มัดหมวกซิบเมี้ยนเมี่ยน อาจารย์ประกอบพิธีกรรมจะแต่งตัวอย่างไร ขึ้นอยู่กับพิธีกรรมแต่ละขั้นตอน



ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org
ขอบคุณภาพประกอบบทความ : เก้าไล่..แซ่จ๋าว บ้านสบถุ...ต.แม่ลาว..อ.เชียงคำ..จ.พะเยา และขอบคุณ กลอย แซ่จ๋าว