หมู่บ้านตาปิ่น (Taphin Village) หมู่บ้านเย้าแดง

หมู่บ้านตาปิ่น ที่มา : ดุษฎีพร ชาติบุตร
หมู่บ้านตาปิ่น (Taphin Village) หมู่บ้านเย้าแดงหมู่บ้านตาปิ่นนี้ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของตัวเมืองซาปา ใช้เวลาในการเดินทางด้วยรถยนต์ประมาณ 30 นาที ประชากรส่วนใหญ่คือชาวเขาเผ่าเย้าแดง ที่เหลือเป็นชาวเขาเผ่าม้งดำ และชาวเวียดนามอาศัยอยู่บ้างเล็กน้อย ผู้เขียนได้สอบถามหญิงเย้าแดงที่ออกมาต้อนรับนักท่องเที่ยวว่า พวกเขาเรียกตัวเองว่าอย่างไร เธอตอบว่า “Dao” (ออกเสียงว่า “Zao”) ซึ่งในประเทศไทยเรานั้นจะเรียกว่า “เย้า” แต่เย้าจะเรียกตนเองว่า “เมี่ยน” เพราะเมี่ยนแปลว่า คน ส่วนเย้าแปลว่า คนป่าเถื่อน ถือเป็นการเรียกที่ไม่สุภาพ
 เย้าเป็นชนกลุ่มน้อยโบราณที่อาจมีอายุเก่าแก่เท่ากับชาวฮั่น ในช่วงพันปีที่ผ่านมา ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมือง ผลักดันให้เย้ามีการอพยพอย่างช้าๆ จากตอนกลางของจีน และอพยพลงใต้ เข้าสู่ภาคเหนือของเวียดนาม ลาว และไทย เย้าแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยๆอีกหลายกลุ่มและอาศัยอยู่ในหลายพื้นที่ทำให้มีรายละเอียดปลีกย่อยด้านวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตามเอกลักษณ์เด่นๆของชนเผ่าเย้าก็ยังคงมีร่วมกันอยู่ รวมทั้งความเชื่อมโยงทางด้านภาษาด้วย เย้านับถือลัทธิเต๋าและวิญญาณบรรพบุรุษ และถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชาวเย้า ในส่วนของเย้าแดงนั้น ได้มีการอพยพลงมาจากประเทศจีนตั้งแต่ราวคริสต์ศตวรรษที่ 13 เรื่อยมาจนกระทั่งต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20  เย้าแดงส่วนใหญ่ได้อพยพมายังเวียดนามตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง อันเนื่องมาจากความแห้งแล้งและแรงกดดันจากระบบศักดินาในประเทศจีน
ภายในบ้านของชาวเย้าแดง ที่มา : ดุษฎีพร ชาติบุตร

 บรรยากาศภายในหมู่บ้านตาปิ่น ในส่วนของพื้นที่ราบเต็มไปด้วยท้องนาที่เป็นลักษณะขั้นบันไดต่ำๆ ไม่ชันมากอย่างที่หมู่บ้านกั๊ต กั๊ต  และมีการปลูกบ้านรวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆประมาณ 20 กลุ่ม ส่วนที่สูงขึ้นไปจะเป็นกลุ่มบ้านเล็กๆ  ไร่ข้าวโพดและสวนผัก

            บ้านของเย้าจะมีขนาดใหญ่กว่าม้งเล็กน้อยแต่มีรูปแบบคล้ายๆกัน ผู้เป็นแม่และลูกสาวเมื่ออยู่กับบ้านจะเตรียมอาหารและเย็บปักถักร้อย  ถ้าต้องออกไปทำงานในไร่นา เมื่อกลับมาในตอนเย็นแล้วก็จะมานั่งรวมกลุ่มพูดคุยกัน ส่วนผู้ชายจะรับหน้าที่ดูแลงานปศุสัตว์และงานที่ต้องใช้แรงงานหนัก เช่น สร้างบ้าน ก่อสร้างสิ่งต่างๆ บางครั้งก็ต้องออกเดินทางเข้าไปในป่า เพื่อเก็บไม้มาสร้างบ้าน หรือออกไปเตรียมพื้นที่ในการทำเกษตรกรรม เป็นต้น

             การแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ของสตรีเย้าแดงก็คือ การโพกศีรษะด้วยผ้าสีแดง ถ้าเป็นสตรีที่อายุน้อย ผ้าโพกจะมีขนาดเล็ก ถ้าเป็นสตรีสูงอายุผ้าโพกศีรษะจะมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีการตกแต่งที่วิจิตรมากขึ้นตามไปด้วย เอกลักษณ์อีกอย่างของสตรีเย้าแดงคือ การนิยมโกนคิ้วและหน้าผาก ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความงาม

            สตรีเย้าแดงจะมีความเชี่ยวชาญในด้านงานปัก และช่างโลหะเงิน  เด็กสาวจะไม่ได้รับอนุญาตให้แต่งงานได้ จนกระทั่งมีความเชี่ยวชาญด้านศิลปะเหล่านี้เพียงพอ ในปัจจุบันสตรีเย้าแดงไม่เพียงแต่ทำงานศิลปะ ออกไปปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ และเก็บฟืนเท่านั้น แต่พวกเธอยังต้องฝึกเรียนภาษาอังกฤษให้เชี่ยวชาญ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในหมู่บ้านทุกๆวันอีกด้วย
สตรีเย้าแดง ทำงานหัตถกรรมและพักผ่อนพูดคุยกัน ที่มา : ดุษฎีพร ชาติบุตร


สตรีเย้าแดงออกมารอรับนักท่องเที่ยว ที่มา : ดุษฎีพร ชาติบุตร
รูปแบบของการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่หมู่บ้านตาปิ่นนี้ เมื่อรถทัวร์ของนักท่องเที่ยวเข้าไปจอดที่ลานหน้าหมู่บ้าน สตรีเย้าแดงจะรวมกลุ่มกันข้างรถและจับจองว่าเธอจะเดินประกบนักท่องเที่ยวคนไหน ตั้งแต่นักท่องเที่ยวยังไม่ได้ลงจากรถ เมื่อเดินลงมาจากรถนักท่องเที่ยวจะมีไกด์ท้องถิ่น ซึ่งก็คือ สตรีเย้าแดงคอยแนะนำหมู่บ้าน รวมทั้งวิถีชีวิตของเย้าแดง ด้วยภาษาอังกฤษที่คล่องแคล่วชำนาญเป็นอย่างมาก จนบางทีนักท่องเที่ยวเสียเองที่พูดและฟังภาษาอังกฤษได้ดีไม่เท่าพวกเธอ  เมื่อพาเที่ยวรอบหมู่บ้านและเดินกลับจะออกจากหมู่บ้านแล้ว เธอก็จะเสนอขายสินค้างานฝีมือต่างๆ ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง แต่ก็สามารถต่อรองราคาได้จนถูกลงมาก  เย้าแดงบางคน เมื่อโน้มน้าวให้นักท่องเที่ยวให้ซื้อของไม่ได้ ก็ไม่ได้ต่อว่าอะไร และกล่าวลาด้วยไมตรีจิตที่ดี แต่ก็มีบางคนที่อาจจะตื้อขายของอยู่พักใหญ่ และมีอาการเคืองอยู่บ้างถ้านักท่องเที่ยวไม่อุดหนุนสิ้นค้าเลยสักชิ้น ปัจจุบันที่หมู่บ้านตาปิ่นนี้มีการทำการท่องเที่ยงเชิงวัฒนธรรม ในรูปแบบของโฮมสเตย์ กล่าวคือ นักท่องเที่ยวสามารถมานอนค้างคืนที่บ้านของชาวเย้าแดงได้ ร่วมรับประทานอาหารและใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับพวกเขาได้ ถ้าต้องการพักอยู่นานมากขึ้น ก็สามารถออกไปช่วยงานเกษตรกรรม ช่วยตกแต่งบ้าน หรือแม้กระทั่งสอนภาษาอังกฤษแก่พวกเขาได้ โดยชาวเย้าแดงจะให้ข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับวัฒนธรรมของพวกเขาในเชิงลึกได้มากยิ่งขึ้น
ชายเย้าแดงกำลังช่วยกันสร้างบ้าน  ที่มา : ดุษฎีพร ชาติบุตร



หมู่บ้านชาวเขา Taphin Village หมู่บ้านชาวเขาเผ่าเย้า

ขอบคุณข้อมูล >>>http://goo.gl/iJgw2T